วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553





ประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี

การปกครองสมัยกรุงธนบุรียึดถือตามแบบอย่างอยุธยา สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คือ
แบ่งส่วนราชการออกเป็น
1. การปกครองส่วนกลาง ประกอบด้วยอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง ได้แก่
- สมุหนายก เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน และดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ
- สมุหพระกลาโหม เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร และดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้
การบริหารราชการแบ่งออกเป็น 4 กรม เรียกว่า จตุสดมภ์ ประกอบด้วย
- กรมเวียง (นครบาล) มีหน้าที่ปกครองท้องที่ รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
- กรมวัง (ธรรมาธิกรณ์) มีหน้าที่เกี่ยวกับราชสำนัก และช่วยพระมหากษัตริย์พิจารณาคดีความของ
ราษฎร จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ธรรมาธิกรณ์
- กรมคลัง (โกษาธิบดี) มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของแผ่นดิน และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้มาจาก
ส่วย อากร และบังคับบัญชากรมท่า ซี่งเกี่ยวข้องกับการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
- กรมนา (เกษตราธิการ) มีหน้าที่ดูแลนาหลวง เก็บภาษี (หางข้าว)
2. การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งหัวเมืองออกเป็น
2.1 หัวเมืองชั้นใน (เมืองจัตวา) ได้แก่เมืองที่อยู่ใกล้ราชธานี เป็นเมืองเล็กๆมีขุนนางชั้นผู้น้อยเป็น
ผู้ปกครองเมือง แต่เรียกว่า จ่าเมือง เช่นเมืองพระประแดง เมืองนนทบุรี เมืองสามโคก
2.2 หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่เมืองซึ่งอยู่นอกราชธานีออกไป แบ่งตามขนาดและความสำคัญของเมือง
กำหนดฐานะเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี จัตวา โดยรูปแบบการบริหารราชการเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ฐานะของ
เมืองอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
2.3 หัวเมืองประเทศราช เป็นเมืองซึ่งทางกรุงธนบุรีจะเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าเมือง ให้อิสระในการปกครอง แต่
ต้องปฏิบัติตามนโยบายของเมืองหลวง และต้องส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง รวมทั้งเครื่องราชบรรณาการตามที
เมืองหลวงกำหนด เมืองประเทศราชสมัยกรุงธนบุรีได้แก่ เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทร์ จำปาศักดิ์
นครศรีธรรมราช ปัตตานี และเขมร
เศรษฐกิจสมัยกรุงธนบุรี
การเสียกรุงครั้งที่ 2 ก่อให้เกิดความเสียหายย่อยยับแก่เศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากชาวไทยต้อง
บาดเจ็บล้มตายในสงครามกับพม่าหลายหมื่นคนแล้ว ผู้รอดชีวิตจำนวนมากต้องอพยพหนีตายในสภาพอดอยาก
ยากแค้น บางส่วนอพยพหนีเข้าป่า บางส่วนซัดเซพเนจรหาที่พักพิงใหม่ เมื่ออดอยากหนักเข้าจึงใช้วิธีปล้นสะดม
ฆ่าฟันกันเพื่อความอยู่รอด บ้างก็ล้มตายเพราะขาดอาหาร หรือไม่ก็ตายเพราะโรคระบาด พลเมืองบางส่วน
ก็หนีไปพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงธนบุรี
หลังจากที่พระเจ้าตากสินได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้วได้ดำเนินวิธีการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ
ดังนี้
1. ทรงสละพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารจากต่างชาติที่นำมาขาย แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับราษฎรเพื่อแก้
ปัญหาเฉพาะหน้า
2. ทรงเร่งรัดการทำนา เพื่อให้มีข้าวบริโภคเพียงพอ โดยการสนับสนุนให้ข้าราชการทำนาปรัง
3. ทรงส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ เพื่อนำรายได้มาใช้เกี่ยวกับการทำสงครามและบูรณปฏิสังขรณ์
วัดวาอาราม รายได้เกี่ยวกับการค้ากับต่างประเทศ ได้แก่ การเก็บภาษีเบิกร่องหรือค่าปากเรือ ภาษีขาเข้า - ภาษี
ขาออก
4. ทรงดำเนินนโยบายประหยัด โดยการใช้ของที่เป็นเครื่องอุปโภค บริโภค ให้คุ้มค่ามากที่สุด
แม้ว่าพระเจ้าตากสินจะพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาความอดอยากของ
ประชาชน แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จนัก เป็นเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้
1.มีสงครามตลอดรัชกาล ทำให้ราษฎรไม่มีเวลาทำมาหากิน
2.เกิดภัยธรรมชาติ เช่น พ.ศ.2311 – พ.ศ.2312 ฝนแล้งติดต่อกัน ทำนาไม่ได้ผล ที่พอทำได้บ้างก็ถูก
หนูกัดกินข้าวในนาและยุ้งฉาง รวมทั้งทรัพย์สินสิ่งของทั้งปวงเสียหาย จึงมีรับสั่งให้ราษฎรดักหนูนามาส่ง
กรมพระนครบาล ทำให้เหตุการณ์สงบลงไปได้
3.ผู้คนแยกย้ายกระจัดกระจายกัน ยังไม่มารวมกันเป็นปึกแผ่น
4.พ่อค้าชาติต่างๆยังไม่กล้ามาลงทุน เพราะสภาพการณ์บ้านเมืองไม่น่าวางใจนัก อีกประการหนึ่งเกรง
จะถูกยึดทรัพย์สินเป็นของหลวง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ค่อยได้ผลนัก ทั้งนี้เพราะต้องทำควบคู่ไปกับการทำ
สงครามด้วย แม้กระนั้นพระเจ้าตากสินก็พยายามส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ โดยส่งเสริมการต่อเรือ
พาณิชย์ อันเป็นผลให้มีหนทางเก็บภาษีเข้าท้องพระคลัง เรือค้าขายจากเมืองจีนมาติดต่อบ่อยครั้ง ใน พ.ศ.2324
คณะทูตจากกรุงธนบุรีเดินทางไปเมืองกวางตุ้ง นำพระราชสาสน์ไปเจริญทางพระราชไมตรีและได้เจรจาเรื่อง
การค้าด้วย
การปรับปรุงฟื้นฟูประเทศด้านการศึกษาและศาสนาสมัยกรุงธนบุรี
การศึกษาสมัยกรุงธนบุรีมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดกับวัง โดยวัดจะเป็นสถานศึกษาสำหรับราษฎรทั่วไป ซึ่ง
ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้ชายเพราะต้องไปศึกษาและพักอยู่กับพระที่วัด วิชาที่เรียนได้แก่ การอ่าน เขียนภาษาไทย
ภาษาบาลี - สันสกฤต และวิชาเลข ซึ่งสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนวังเป็นสถานศึกษาสำหรับบุตรของ
พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ วิชาที่เรียนส่วนใหญ่เน้นเรื่องการปกครอง วิชาการป้องกันตัว เพื่อ
เตรียมรับราชการต่อไปในอนาคต ส่วนวิชาชีพนั้นจะเป็นการศึกษากับพ่อแม่ คือ พ่อแม่ประกอบอาชีพอะไร ก็มัก
จะถ่ายทอดให้ลูกหลานทำต่อ เช่นวิชาแพทย์แผนโบราณ หรือวิชาช่างต่างๆ ส่วนเด็กผู้หญิงจะเรียนเพื่อเตรียมตัว
เป็นแม่บ้านแม่เรือนในอนาคต ดังนั้นการเรียนของเด็กผู้หญิงจะเรียนอยู่กับบ้าน มีแม่เป็นผู้สอน วิชาที่เรียน เช่น
การเย็บปักถักร้อย ทำกับข้าว การฝึกอบรมมารยาทของสตรี โดยพ่อแม่ไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ การปรับปรุงฟื้นฟูประเทศด้านศาสนาสมัยกรุงธนบุรี พระพุทธศาสนาตกต่ำมากในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อพระเจ้าตากสินขึ้นครองราชย์
พระองค์ทรงตั้งพระทัยจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอย่างแน่วแน่ พระราชภารกิจทางด้านศาสนา ได้แก่
1. นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ตามที่ต่างๆให้มาประชุมกันที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) แต่งตั้ง
เจ้าอาวาสวัดประดู่ขึ้นเป็นพระสังฆราช และตั้งพระราชาคณะให้ปกครองพระอารามต่างๆในเขตกรุงธนบุรี
2. ในคราวเสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช พระองค์เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระอาราม
วัดพระศรีมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช และให้เชิญพระไตรปิฎกขึ้นมายังกรุงธนบุรี เพื่อคัดลอกจารไว้ทุกหมวด
แล้วเชิญกลับไปนครศรีธรรมราชตามเดิม
3. เมื่อเสด็จหัวเมืองเหนือ พระเจ้าตากสินก็ทรงแต่งตั้งพระราชาคณะตามหัวเมืองต่างๆ และโปรดให้
รวบรวมพระไตรปิฎกทางหัวเมืองเหนือมาสอบชำระที่กรุงธนบุรี แล้วให้ส่งกลับไปใช้เป็นฉบับหลวง
4 .ทรงอุปถัมภ์พระภิกษุ สามเณร ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทางศาสนาเป็นประจำ
5. ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง เช่น วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม)อันเป็นพระอารามหลวง และ
ประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตย์ นอกจากนี้เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
เป็นแม่ทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์ใน พ.ศ.2321 ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ในกรุงธนบุรีด้วย
สภาพสังคมไทยสมัยกรุงธนบุรี
สภาพสังคมไทยสมัยกรุงธนบุรี มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยา คือมีการแบ่งชนชั้นออกเป็น
1. พระมหากษัตริย์ เป็นชนชั้นสูงสุดในสังคม
2. พระบรมวงศานุวงศ์
3. ขุนนางข้าราชการ
4. ไพร่ เป็นชนชั้นที่มีมากที่สุดในสังคม
5. ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุดในสังคม ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายเงินมาก
สังคมไทยสมัยกรุงธนบุรีถูกควบคุมอย่างเข้มงวดมาก ด้วยเป็นเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในระหว่างอันตราย
เพิ่งกอบกู้เอกราชคืนมาได้ ทั้งประสบความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ผู้คนหลบหนีเข้าป่าอย่างมากมาย ถูก
กวาดต้อนไปพม่าก็มีมาก นอกนั้นต่างก็พยายามเอาตัวรอดโดยการตั้งเป็นก๊ก เป็นเหล่า ครั้นกู้กรุงศรีอยุธยา
กลับคืนมาได้ก็ยังต้องระมัดระวังภัยจากพม่าที่จะมาโจมตีอีก การควบคุมกำลังคนจึงมีความสำคัญมาก เพราะถ้ามี
ผู้คนน้อย ก็จะทำให้พ่ายแพ้แก่ข้าศึกศัตรูได้ ผู้คนในกรุงธนบุรีถูกควบคุมโดยการสักเลก ผู้ที่ถูกสักเลกทั้งหลาย
เรียกกันว่าไพร่หลวง ซึ่งมีหน้าที่รับราชการปีละ 6 เดือน โดยมาทำราชการหนึ่งเดือน และหยุดพักผ่อนไปทำมา
หากินหนึ่งเดือนสลับกันไป ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าเข้าเดือนออกเดือน มีไพร่หลวงอีกพวกหนึ่งเรียกว่าไพร่ส่วย คือ
เป็นไพร่ที่ส่งส่วยเป็นสิ่งของหรือเงินแทนการรับใช้แรงงานแก่ทางราชการ ส่วนไพร่สมเป็นไพร่ที่สังกัดมูลนาย
รับใช้แต่เจ้านายของตนเอง เพราะพวกนี้ถูกแยกเป็นอีกพวกหนึ่งเด็ดขาดไปเลย แต่บางครั้งไพร่สมก็ถูกแปลงมา
เป็นไพร่หลวงได้เหมือนกัน การสักเลกก็เพื่อเป็นการลงทะเบียนชายฉกรรจ์เป็นไพร่หลวงเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยง
และหลบหนี
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศในสมัยกรุงธนบุรีมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือการป้องกันประเทศจาก
การรุกรานของต่างชาติ และการขยายอำนาจไปยังอาณาจักรข้างเคียง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแก่บ้านเมือง
ประเทศที่มี ความสัมพันธ์กับไทยสมัยกรุงธนบุรี คือ พม่า ลาว เขมร และจีน
1. ความสัมพันธ์กับประเทศพม่า เป็นไปในลักษณะของความขัดแย้งตลอดรัชกาล เริ่มจากการรบ
ครั้งแรกที่ค่ายโพธิ์สามต้น ซึ่งไทยเป็นฝ่ายชนะ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จแล้วก็ตาม แต่
พม่าก็ยังไม่หยุดยั้งที่จะทำลายอาณาจักรไทยที่ตั้งขึ้นใหม่ ในสมัยกรุงธนบุรีมีการทำสงครามกับพม่า 10 ครั้ง
ผลัดกันแพ้ชนะ สงครามครั้งสำคัญที่สุด ได้แก่ ศึกอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ.2318 ไม่มีฝ่ายใดชนะ
โดยเด็ดขาด
2. ความสัมพันธ์กับประเทศลาว ในสมัยกรุงธนบุรีมีการทำสงครามกับลาว2 ครั้ง คือศึกจำปาศักดิ์
ปี พ.ศ.2319 และศึกเวียงจันทร์ปี พ.ศ.2321 ผลของสงครามทั้ง 2 ครั้ง ไทยเป็นฝ่ายชนะ ได้ลาวเป็นประเทศราช
และในคราวศึกเวียงจันทร์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแม่ทัพไทย ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
(พระแก้วมรกต) และพระบาง จากเวียงจันทร์มากรุงธนบุรีด้วย
3. ความสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชา เขมรเคยเป็นประเทศราชของไทยมาแต่สมัยอยุธยา หลังจาก
กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ.2310แล้วพระเจ้าตากสินกู้เอกราชได้สำเร็จ ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์
เขมรไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายอ้างว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ใช่เชื้อพระวงศ์พระเจ้า
แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และพระยาอนุชิต
ราชา (บุญมา) นำทัพไปตีเขมรใน พ.ศ.2312 แต่ไม่สำเร็จเพราะเขมรแกล้งปล่อยข่าวว่าสมเด็จพระเจ้า
ตากสินมหาราชเสด็จสวรรคต พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาจึงยกทัพกลับ ต่อมาปี พ.ศ.2314
โปรดให้พระยาจักรียกทัพไปตีเขมรอีก และได้เขมรกลับมาเป็นประเทศราชของไทย
4.ความสัมพันธ์กับประเทศจีน สมัยกรุงธนบุรีเป็นความพยายามของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จะ
ให้จีนยอมรับฐานะของพระองค์ และเพื่อให้ไทยได้เปิดค้าขายกับจีน เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและทำให้ฐานะของ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมั่นคงขึ้นด้วย เหตุการณ์ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ในช่วงปลายรัชกาล สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทรง
หมกมุ่นในการนั่งวิปัสนากรรมฐาน จนเข้าพระทัยว่าทรงบรรลุโสดาบันแล้ว ทรงบังคับให้พระสงฆ์มากราบไหว้
พระองค์ หากไม่ปฏิบัติตามก็ทรงลงโทษอย่างหนัก สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว จนเกิดจราจลขึ้น พระยาสรรค์ก่อ
การกบฏตั้งตนเป็นใหญ่ บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผนวช สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทราบข่าว
จึงยกทัพกลับจากการไปตีเขมร และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อ วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325
ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น