หมอบรัดเลย์ หรือ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley, M.D.)
ในอดีตไทยใช้การเขียนบันทึกความรู้ต่างๆลงในใบลาน เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดกันระหว่างรุ่นสู่รุ่นเทคโนโลยีเกี่ยวกับการพิมพ์ ปรากฎขึ้นในดินแดนสยามเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันถือว่าเป็นยุคหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีที่มีชาวต่างชาติเข้ามาใช้ชีวิตในสยามมากมาย ทั้งจีน แขก และฝรั่ง หนังสือในรูปแบบของการพิมพ์ตัวอักษรมาพร้อมกับหมอสอนศาสนาชาวต่างชาติที่มีเป้าประสงค์หลักคือการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในภูมิภาคนี้ บาทหลวงที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทในเรื่องการพิมพ์มากที่สุดในยุคนั้นคงไม่พ้นจากบาทหลวงชาวฝรั่งเศสนาม ลาโน(Mgr Laneau) ที่ได้จัดพิมพ์คำสอนทางคริสต์ศาสนาขึ้นมาเผยแพร่ จนเป็นที่พอพระทัยในองค์พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และในคราวที่ ออกญาโกษาธิบดี(ปาน) เป็นราชทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสก็ได้เข้าเยี่ยมชมกิจการงานพิมพ์ของฝรั่งเศสและแสดงความสนอกสนใจเป็นอย่างมากจนกระทั่งในกาลต่อมาพระนารายณ์มหาราชทรงมีรับสั่งให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้น ที่เมืองลพบุรีอันเป็นสถานที่พระองค์ใช้พำนักอยู่ในช่วงปลายรัชกาล แต่ กิจการงานพิมพ์ของสยามในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็ต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งเมื่อมีเกิดการผลัดแผ่นดิน เป็นแผ่นดินของพระเพทราชา ที่ไม่ค่อยโปรดพวกมิชชั่นนารีเท่าทีควรเป็นเหตุให้พัฒนาการเกี่ยวกับการพิมพ์ของสยามในช่วงนั้นต้องหยุดชะงัดลงไปด้วย
บุคคลสำคัญในประวัติการพิมพ์ของไทยอีกคนหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ นางจัดสัน (Nancy Judson) ซึ่งเป็นมิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในเมืองย่างกุ้งของประเทศพม่า มีความสนอกสนใจในภาษาไทยจึงได้ทำการหล่อตัวพิมพ์เป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2356 หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สองไปแล้วราว 40 กว่า ปี แต่ต่อมาตัวพิมพ์ชุดนี้ยังไม่ทันได้ใช้งาน ก็ถูกซื้อไปเก็บไว้ที่ประเทศสิงคโปร์โดย โดยมิชชันนารีคณะ American Board of Commissioners for Foreign Missions อันเป็นคณะมิชชันนารี ที่ หมอบลัดเลย์ได้เข้ามาสังกัดอยู่ และภายหลังได้ใช้ชุดหล่อตัวพิมพ์ชิ้นนี้ พิมพ์หนังสือภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกจนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการพิมพ์ของไทย
หมอบรัดเลย์ หรือ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley, M.D.)เป็นหมอสอนศาสนา ชาวเมืองมาร์เซลลัส(Marcellus) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบุครคนที่ 5 ของ นายนายแดน บรัดเลย์และนางยูนิช บีช บรัดเลย์ บิดาเป็นต้นแบบของหมอบลัดเลย์โดยเคยเป็นทั้ง หมอสอนศาสนา ผู้พิพากษา เกษตรกร และบรรณาธิการวารสารทางเกษตรกรรม ดังนั้นจึงสร้างเป็นแนวความคิดให้หมอบลัดเลย์ใฝ่ฝันอยากจะเผยแพร่ศาสนาอย่างผู้เป็นบิดาบ้างจึงตัดสินใจเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ เมื่อจบการศึกษาก็สมัครเป็นมิชชั่นนารีในองค์กรAmerican Board of Commissioners of Foreign Missions(ABCFM) หมอบลัดเลย์เดินทางมาเผยแพร่ ศาสนาในประเทศไทยในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โดยได้แวะที่สิงคโปร์และได้รับชุดตัวพิมพ์ภาษาไทยที่ American Board of Commissioners of Foreign Missions ในประเทศสิงคโปรได้ซื้อไว้ ก่อนจะเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทย
ในระยะแรกหมอบลัดเลย์ได้อาศัยอยู่ในละแวกสัมพันธวงศ์โดยเปิดเป็นร้านจ่ายยา และช่วยรักษาโรคให้แก่ชาวพระนคร ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ฝั่งธนบุรี และได้รักษาพยาบาลคนเรื่อยมาโดยผลงานที่สำคัญคือการผ่าตัดผู้ป่วยคนไทยจนสามารถรักษาชีวิตเอาไว้ได้ถือว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเลยทีเดียว ส่วนในงานเผยแพร่ศาสนานั้นหมอบลัดเลย์ก็ไม่ได้ละเลย ยังคงเผยแพร่คำสอนของศาสนาคริสต์อยู่เรื่อยมาและการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นั้นจำเป็นต้องมีหนังสือเพื่อช่วยให้คนเข้าอกเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาใหม่นี้ได้ง่ายขึ้นดังนั้นหมอบลัดเลย์จึงย้ายไปอาศัยอยู่ ข้างวัดประยูรวงศาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีทำเลดีและได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่ศาสนา และได้ใช้ ตัวอักษรภาษาไทยที่ได้มาจากสิงคโปร์ในคราวที่แวะจอดเรือก่อนจะเข้ามาประเทศไทย งานชิ้นแรกที่ หมอบลัดเลย์พิมพ์เป็นภาษาไทยในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2382คือ การพิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นและห้ามค้าฝิ่น ที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำขึ้นจำนวน 9,๐๐๐ แผ่น ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารราชการไทยฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์
ต่อมาในปีพ.ศ. 2385 หมอบลัดเลย์ได้หล่อชุดพิมพ์ขึ้นมาใหม่ และในอีกสองปีต่อมาหมอบลัดเลย์ได้ใช้ชุดพิมพ์ตัวใหม่นี้ จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายเดือนภาษาไทยฉบับแรกขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่าชื่อว่า บางกอกรีคอเดอ (Bangkok Recorder) ออกวางจำหน่าย ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่มีขึ้นในประเทศไทย แต่หนังสือพิมพ์เล่มดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นานต้องปิดตัวไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่ภรรยาของหมอบลัดเลย์สิ้นชีวิตพอดีทำให้การดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์รีคอเดรอ์ไม่สามารถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงต้องหยุดลงชั่วคราวโดยหมอบลัดเลย์ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศของตนเป็นระยะเวลาหนึ่งและได้แต่งงานใหม่ก่อนจะกลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้ง กลับมาคราวนี้หมอหมอบลัดเลย์ได้ลาออกจากAmerican Board of Commissioners of Foreign Missions เข้ามาย้ายไปสังกัดองค์กร American Missionary Association ( AMA) แทน
องค์กรใหม่มีฐานะทางการเงินไม่สู้ดีเท่าทีควรจึงทำให้หมอบลัดเลย์ต้องหารายได้พิเศษโดยการพิมพ์หนังสือขาย เพื่อจุนเจือฐานะทางการเงิน โดยหนังสือที่พิมพ์ในช่วงนี้มีหลายหลายประเภททั้ง ตำราเรียนภาษาไทย เช่น ประถม ก กา จินดามณี หนังสือกฎหมายทั้งยังพิมพ์เรื่องในวรรณคดีต่างๆเช่น ราชาธิราช สามก๊ก เลียดก๊ก ไซ่ฮั่น เป็นต้นและในช่วงนี้เองที่ทำให้มีการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเพื่อมาจัดพิมพ์วางจำหน่ายเป็นครังแรกในประเทศไทยเมื่อ หมอบลัดเลย์ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือ นิราศลอนดอนที่เขียนโดย หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) เป็นเงิน 4๐๐ บาท ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2404 ทำให้หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นหนังสือเล่มแรกของไทยที่มีการซื้อขายลิขสิทธ์ตามแบบอย่างตะวันตก และสำนักพิมพ์ต่างๆก็ยังคงยึดถือหลักการนี้สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น