วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553



การปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา


กรุงศรีอยุธยาปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรง เป็นพระประมุข ที่มีอำนาจสูงสุดใน การปกครอง แผ่นดิน ทรงปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม พระองค์ทรง มอบหมายให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางปกครอง ดูแลเมือง ลูกหลวง หลานหลวง ต่างพระ เนตรพระกรรณ ส่วนเมืองประเทศราชมีเจ้านายใน ราชวงศ์เก่าปกครอง ขึ้นตรงต่อเมืองราชธานี ศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) ทรงปฏิรูปการปกครอง ลดทอน อำนาจหัวเมือง ทรงแยกการบริหาร ราชการแผ่นดิน ออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายทหาร มีสมุหกลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบ ฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ ในฝ่ายพลเรือนนั้นยังแบ่งออกเป็น ๔ กรมหรือ จตุสดมภ์ คือ สี่เสาหลัก ได้แก่ กรมเวียงหรือนครบาล ทำหน้าที่ปกครองดูแลบ้านเมือง กรมวังหรือธรรมมาธิกรณ์ ทำหน้าที่ดูแล กิจการพระราชวัง กรมคลังหรือโกษาธิบดี ทำหน้าที่ดูแลด้านการค้าและการต่างประเทศ กรมนาหรือเกษตราธิการ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องเกษตรกรรม ซึ่งรูปแบบการปกครองนี้ ใช้สืบต่อมา ตลอด สมัยอยุธยา

ระเบียบการปกครองสมัยอยุธยาการจัดระเบียบการปกครองแบ่งออกเป็น ๓ สมัย ๑. สมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.๑๘๙๓-๑๙๙๑) ๒. สมัยอยุธยาตอนกลาง (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๒๓๑) ๓. สมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๓๑๐)
ระบบการปกครองของกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ระบบการปกครองของกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ได้รับแบบอย่างมาจากสุโขทัย และจากขอมนำมาปรับปรุงใช้ ลักษณะการปกครองสมัยนั้นแบ่งเป็น
๑. การปกครองส่วนกลาง คือการปกครองภายในราชธานี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากขอมแบบแผนที่ได้รับมาเรียกว่า “จตุสดมภ์” ซึ่งประกอบด้วย ๑.๑ เมืองหรือเวียง มีขุนเมือง เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ปกครองดูแลท้องที่และราษฎร ดูแลความสงบเรียบร้อย ปราบปรามโจรผู้ร้าย และลงโทษผู้กระทำความผิด ๑.๒ วัง มีขุนวัง เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับงานในราชสำนักและพระราชพิธีต่างๆ พิจารณาพิพากษาคดีต่างของราษฎรด้วย ๑.๓ คลัง มีขุนคลังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เก็บและรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินอันได้จากอากร นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการต่างประเทศอีกด้วย ๑.๔ นา มีขุนนา เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ดูแลการทำไร่นา รักษาเสบียงอาหารสำหรับทหาร ออกสิทธิที่นา และมีหน้าที่เก็บหางข้าวขึ้นฉางหลวง คือใครทำนาได้ก็ต้องแลกเอาเข้ามาส่งฉางหลวง

๒. การปกครองส่วนภูมิภาค คือการปกครองพระราชอาณาเขต กรุงศรีอยุธยาได้แบบแผนมาจากครั้งกรุงสุโขทัย โดยการแบ่งหัวเมืองออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ๒.๑ หัวเมืองชั้นใน มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีเมืองป้อมปราการด่านชั้นในสำหรับป้องกันราชธานีทั้ง ๔ ทิศ เรียกว่า เมืองลูกหลวง ซึ่งอยู่ห่างจากราชธานี เป็นระยะทางเดิน ๒ วัน ทิศเหนือ คือ เมืองลพบุรี ทิศใต้ คือ เมืองพระประแดง ทิศตะวันออก คือ เมืองนครนายก ทิศตะวันตก คือ เมืองสุพรรณบุรี นอกจากนั้น ยังมีหัวเมืองชั้นในตามรายทางที่อยู่ใกล้ๆ กับเมืองลูกหลวง เช่น เมืองปราจีน เมืองพระรถ(เมืองพนัสนิคม) เมืองชลบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เป็นต้น และถ้าเมืองใดเป็นเมืองสำคัญก็จะส่งเจ้านายจาก ราชวงศ์ออกไปครอง
๒.๒ เมืองพระยามหานคร หรือหัวเมืองชั้นนอก คือ เมืองใหญ่ที่อยู่ห่างจากหัวเมืองชั้นในออกไป ทิศตะวันออก คือ เมืองโคราชบุรี(นครราชสีมา) เมืองจันทบุรี ทิศใต้ คือ เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา และเมืองถลาง ทิศตะวันตก คือ เมืองตะนาวศรี เมืองทะวาย เมืองเชียงกราน
๒.๓ เมืองประเทศราช หรือเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) สันนิษฐานว่า คงจะมีแต่เมืองมะละกากับเมืองยะโฮร์ทางแหลมมลายูเท่านั้น ส่วนกัมพูชานั้นต้องปราบกันอีกหลายครั้ง จึงจะได้ไว้ในครอบครอง และในระยะหลังต่อมาสุโขทัยก็ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาด้วย เมืองประเทศราช มีเจ้านายของตนปกครองตามจารีตประเพณีของตน แต่ต้องกราบบังคมทูลให้กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแต่งตั้ง
ระบบการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ การปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
สาเหตุที่ทรงแก้ไขใหม่ เพราะ ๑. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เคยเสด็จไปครองเมืองพิษณุโลกจึงทำให้พระองค์ทรงรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและการปกครองของกรุงสุโขทัยเป็นอย่างดี ว่าส่วนใดดีส่วนใดบกพร่อง ๒. อาณาจักรสุโขทัยได้ตกมาเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา และกรุงศรีอยุธยาตีได้นครธมราชธานีขอมใน พ.ศ. ๑๙๗๖ และในครั้งนั้น กรุงศรีอยุธยาได้ข้าราชการชาวสุโขทัยจำนวนมาก ชาวกัมพูชา พราหมณ์ เจ้านาย ท้าวพระยา ผู้ชำนาญทางการปกครอง มาไว้ในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้มีการปฏิรูปการปกครองขึ้น โดยเลือกเอาส่วนที่ดีของการปกครองกรุงสุโขทัยและขอมมาปรับปรุงใช้ในกรุงศรีอยุธยา
ลักษณะการปกครองสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ การปฏิรูปการปกครองใหม่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และต่อมาในสมัยพระเพทราชา นั้น ได้ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบมา จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จะแก้ไขปัญหาในบางสมัย ก็เป็นแต่แก้พลความ ส่วนตัวหลักนั้นยังคงยึดของเดิมอยู่ การปกครองสมัยอยุธยาตอนกลางมีดังนี้

การปกครองส่วนกลาง แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ๑. ฝ่ายทหาร มีสมุหกลาโหม เป็นผู้บังคับบัญชา ตำแหน่งเทียบเท่าอัครมหาเสนาบดี มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยามหาเสนาบดี ทำหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับราชการทหาร
๒. ฝ่ายพลเรือน มีสมุหนายกเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับงานราชการพลเรือนทั่วๆ ไป มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ มีเสนาบดีจตุสดมภ์เป็นเจ้ากระทรวง ตำแหน่งรองลงมาจากสมุหนายก ทำหน้าที่เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติมา เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ดังนี้ กรมเมือง เปลี่ยนเป็น นครบาล กรมวัง เปลี่ยนเป็น ธรรมาธิกรณ์ กรมคลัง เปลี่ยนเป็น โกษาธิบดี กรมนา เปลี่ยนเป็น เกษตราธิการ ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองของไทย ที่แบ่งราชการทหารกับราชการพลเรือนออกจากกัน แต่ในยามสงครามทั้งสองฝ่ายก็จะรวมพลังกันป้องกันประเทศ ถ้าเป็นยามที่บ้านเมืองสงบ เมื่อมีราชการทหารเกิดขึ้น สมุหกลาโหมก็จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และนำมติที่ประชุมขึ้นกราบบังคมทูลต่อองค์พระเจ้าอยู่หัว เมื่อมีพระบรมราชโองการอย่างใด เสนาบดีกรมวัง ก็จะรับสั่งมายังเจ้าพระยามหาเสนาบดีสมุหกลาโหม จากนั้นก็จะสั่งการไปยังกรมทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นงานเกี่ยวกับราชการพลเรือน เจ้าพระยาจักรีองครักษ์ประธานในที่ประชุมและนำมติในที่ประชุมขึ้นกราบบังคมทูล เมื่อมีพระบรมราชโองการลงมาอย่างใด ก็จะสั่งไปยังเสนาบดีจตุสดมภ์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ

การปกครองส่วนภูมิภาค การปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้นได้วางหลักการปกครองหัวเมืองต่างๆ ให้เป็นแบบเดียวกันกับราชธานี โดยจัดให้มีจตุสดมภ์ตามหัวเมืองต่างๆและได้โปรดให้ยกเลิกเมืองลูกหลวงพร้อมทั้งขยายเขตการปกครองของราชธานีให้กว้างขวางออกไปโดยรอบ การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งตามเขตการปกครองออกเป็น
๑.หัวเมืองชั้นใน การปกครองหัวเมืองชั้นใน ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้กำหนดให้เมืองต่างๆ ที่อยู่ในวงราชธานี ซึ่งได้แก่ มณฑลราชบุรี มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลปราจีนบุรี เป็นเมืองชั้นจัตวา มีผู้รั้งและกรมการชั้นผู้น้อย(จ่าเมืองแพร่งและศุภมาตรา) เป็นพนักงานปกครองขึ้นอยู่กับเจ้ากระทรวงในราชธานี ๒.หัวเมืองชั้นนอก คือ หัวเมืองที่อยู่นอกราชธานีออกไป และได้จัดเป็นหัวเมืองชั้นโท ตรี ตามลำดับความสำคัญ ผู้ปกครองเมืองได้แก่ พระราชวงศ์หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้งให้ออกไปครองเมือง มีอำนาจสิทธิ์ขาดแทนพระองค์ทุกประการ และมีกรมการพนักงานปกครองชั้นรองลงมาจากเจ้าเมือง คือ กรมการตำแหน่งพล(สมุหกลาโหม) กรมการตำแหน่งมหาดไทย(สมุหนายก) ตำแหน่งจตุสดมภ์ ทำหน้าที่เดียวกับในเมืองหลวง ก. หัวเมืองชั้นนอก เดิมทีเพียง ๒ เมืองคือ พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ยกเมืองนครราชสีมาเป็นหัวเมืองชั้นเอกอีกเมืองหนึ่ง ข. หัวเมืองชั้นโท มี ๖ เมือง คือ สวรรคโลก นครราชสีมา สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตะนาวศรี ค. หัวเมืองชั้นตรี มี ๗ เมือง คือ พิชัย พิจิตร นครสวรรค์ จันทรบูรณ์ ไชยา ชุมพร พัทลุง ง. หัวเมืองชั้นจัตวา มี ๓๐ เมือง เช่น ไชยบาดาล ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ บางละมุง นนทบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ ๓. เมืองประเทศราช เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปถึงชายแดนติดต่อกับประเทศอื่น ที่มีภาษาต่างไปจากประเทศไทย เช่น ทวาย ตะนาวศรี มะละกา เป็นต้น เมืองเหล่านี้ มีเจ้านายของเขาปกครองกันเอง เพียงแต่ใครจะเป็นเจ้าเมืองต้องกราบทูลให้พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงทราบก่อน และจะทรงแต่งตั้งให้ครองเมือง มีอำนาจสิทธิ์ขาดในเมืองของตนทุกประการ แต่ต้องถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการมีกำหนด ๓ ปี ต่อครั้ง และถ้ากรุงศรีอยุธยาเกิดศึกสงคราม เมืองประเทศราชต้องส่งกำลังมาช่วย
การปกครองท้องถิ่น แบ่งเป็น ๑. บ้าน (หมู่บ้าน) มีผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองให้เป็นผู้ปกครอง ๒. ตำบล คือบ้านหลายๆ บ้าน รวมกัน มีกำนันเป็นหัวหน้าปกครอง มีบรรดาศักดิ์เป็น "พัน" ๓. แขวง คือตำบลหลายๆ ตำบลรวมกัน (เทียบได้กับอำเภอในปัจจุบัน) มีหมื่นแขวงเป็นหัวหน้าปกครอง ๔. เมือง คือ แขวงหลายๆ แขวงรวมกัน มีผู้รั้งปกครอง ถ้าเมืองเป็นเมืองชั้นจัตวา และมีเจ้าเมืองปกครอง ถ้าเมืองนั้นๆ เป็นเมืองชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี
ระบบการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเพทราชาถึงสิ้นกรุงศรีอยุธยา ลักษณะการปกครองกรุงศรีอยุธยาในระยะนี้ ยังคงใช้ระบบการปกครองสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นหลัก จนกระทั่งถึงสมัยพระเพทราชา ซึ่งเป็นสมัยที่บ้านเมืองไม่สงบเกิดกบฏขึ้นบ่อยครั้ง เพราะทหารมีอำนาจมากในขณะนั้น และอำนาจทางทหารตกอยู่ในความควบคุมของสมุหกลาโหมแต่เพียงผู้เดียว ดังเช่นในสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช สมุหกลาโหมเป็นกบฎแย่งชิงราชสมบัติและตั้งตัวเป็นกษัตริย์คือ พระเจ้าปราสาททอง เป็นต้น จึงทำให้สมเด็จพระเทพราชาหวาดระแวงพระทัย เกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในสมัยของพระองค์ เพื่อเป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ พระองค์ตัดสินใจจัดระบบการปกครองใหม่เป็นบางส่วนดังนี้ สมุหกลาโหม แต่เติมเคยควบคุมเกี่ยวกับทางทหารทั่วประเทศ ให้เปลี่ยนมาเป็นควบคุมผู้บังคับบัญชาทหารและพลเรือนในแถบหัวเมืองฝ่ายใต้ สมุหนายก เดิมเคยควบคุมเกี่ยวกับข้าราชการพลเรือน ให้เปลี่ยนมาควบคุมผู้บังคับบัญชาทั้งทางทหารและพลเรือนในแถบหัวเมืองฝ่าย เหนือ ในกรณีที่เกิดสงคราม ในหัวเมืองฝ่ายใด ผู้บังคับบัญชาการหัวเมืองฝ่ายนั้นต้องเป็นแม่ทัพใหญ่ ดำเนินการต่อสู้ โดยเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพเตรียมทหารและเสบียงอาหาร เป็นต้น การที่เปลี่ยนจากระบบมีอำนาจเต็มทางทหารแต่ฝ่ายเดียวของสมุหกลาโหม มาเป็นระบบแบ่งอำนาจทั้ง ๒ ฝ่าย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ทำให้สมุหนายกและสมุหกลาโหมควบคุมและแข่งขันกันทำราชการไปในตัว การปกครองของเมืองหลวงยังคงใช้ระบบการปกครองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่มีการเปลี่ยนแปลงบ้างก็เฉพาะหัวเมืองต่างๆ เพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่านั้น เช่น ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้ทรงสร้างหัวเมืองชั้นในขึ้นอีกหลายเมือง ได้แก่ นนทบุรี นครชัยศรี ฉะเชิงเทรา สาครบุรี และสระบุรี ทำให้อาณาเขตราชธานีขยายกว้างออกไปอีก ส่วนหัวเมืองประเทศราชนั้นไม่แน่นอน ถ้าสมัยใดพระมหากษัตริย์มีอำนาจก็จะมีเมืองขึ้นหลายเมือง ถ้าอ่อนแอเมืองขึ้นต่างๆ ก็จะแข็งเมืองไม่อยู่ในอำนาจต่อไป การปกครองท้องถิ่นก็ยังคงใช้แบบเดียวกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น